ประเภทของไฟฟ้า
ไฟฟ้ามีแหล่งกำเนิดทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ในเรื่องที่ 3 ประกอบด้วย 2 ตอน คือ
ตอนที่ 1 ประเภทของไฟฟ้า แบ่งประเภทของไฟฟ้าเป็น 2 ประเภท คือ
1. ไฟฟ้าสถิต
ไฟฟ้าสถิต คือ ปริมาณประจุไฟฟ้าบวกและลบที่ค้างอยู่บนพื้นผิววัสดุไม่เท่ากันและ
ไม่สามารถที่จะไหลหรือถ่ายเทไปที่อื่น ๆ ได้ เนื่องจากวัสดุนั้นเป็นฉนวนหรือเป็นวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า
จะแสดงปรากฏการณ์ในรูปการดึงดูด การผลักกันหรือเกิดประกายไฟ ซึ่งปรากฏการณ์การเกิด
ไฟฟ้าสถิตในธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น
2. ไฟฟ้ากระแส
ไฟฟ้ากระแส คือ การไหลของอิเล็กตรอนภายในตัวนำไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
เช่น ไหลจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าไปสู่แหล่งที่ต้องการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดแสงสว่าง
เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านลวดความต้านทานสูงจะก่อให้เกิดความร้อน เราใช้หลักการเกิดความ
ร้อน มาประดิษฐ์อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น เตาหุงต้ม เตารีดไฟฟ้า เป็นต้น ไฟฟ้ากระแส แบ่งออกเป็น 2
ชนิด คือ
2.1 ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current หรือ DC) ไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลไปทางเดียวตลอดระยะเวลาที่วงจรไฟฟ้าปิด กล่าวคือ กระแสไฟฟ้าจะไหลจากขั้วบวกภายในแหล่งกำเนิดผ่านตัวต้านทานหรือโหลดผ่าน ตัวนำไฟฟ้าแล้วย้อนกลับเข้าแหล่งกำเนิดที่ขั้วลบเป็นทางเดียวเช่นนี้ตลอดเวลา เช่น ถ่านไฟฉาย ไดนาโม เป็นต้น
2.2 ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current หรือ AC)ไฟฟ้ากระแสสลับเป็นไฟฟ้าที่มีการไหลกลับไปกลับมา ทั้งขนาดของกระแสและแรงดันไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คือ กระแสจะไหลไปทางหนึ่งก่อน ต่อมาก็จะไหลสวนกลับแล้วก็เริ่มไหลเหมือนครั้งแรก การที่กระแสไฟฟ้าไหลไปตามลูกศรเส้นทึบด้านบนครั้งหนึ่งและไหลไปตามลูกศรเส้นประด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า 1 รอบความถี่ หมายถึง จำนวนลูกคลื่นไฟฟ้ากระแสสลับที่เปลี่ยนแปลงใน 1 วินาทีไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ในประเทศไทยมีความถี่ 50 เฮิรตซ์ ซึ่งหมายถึง จำนวนลูกคลื่นไฟฟ้าสลับที่เปลี่ยนแปลง 50 รอบ ในเวลา 1 วินาที
ตอนที่ 2 การกำเนิดของไฟฟ้า
แหล่งกำเนิดไฟฟ้าในโลกนี้มีหลายอย่าง ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า เป็นต้น
และมนุษย์ได้ค้นพบการกำเนิดไฟฟ้าที่สำคัญ มีดังนี้
1. ไฟฟ้าที่เกิดจากการเสียดสีของวัตถุ เป็นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการนำวัตถุต่างกัน 2 ชนิดมาขัดสีกัน เช่น แผ่นพลาสติกกับผ้า หวีกับผม เป็นต้น
2. ไฟฟ้าที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี โดยการนำโลหะ 2 ชนิดที่แตกต่างกันตัวอย่าง สังกะสีกับทองแดงจุ่มลงในสารละลาย โลหะทั้งสองจะทำปฏิกิริยาเคมีกับสารละลายทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ถ่านอัลคาไลน์ (ถ่านไฟฉาย) เป็นต้น
3. ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเราสามารถสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลข เป็นต้น
4. ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานแม่เหล็กโดยวิธีการใช้ลวดตัวนำไฟฟ้าตัดผ่านสนามแม่เหล็ก หรือการนำสนามแม่เหล็กวิ่งตัดผ่านลวดตัวนำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งสองวิธีนี้จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลในลวดตัวนำนั้น กระแสที่ผลิตได้มีทั้งกระแสตรงและกระแสสลับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น